Rack Server คืออะไร? ทำไมต้องใช้ตู้แร็ค? แล้วจะเลือกใช้ตู้ Rack แบบไหนดี

Rack Server คือ ตู้ที่เอาไว้ติดตั้งและจัดเก็บเครื่อง Server ตลอดจนอุปกรณ์ data processing และอุปกรณ์ Network อื่นๆ

Rack Server คืออะไร ทำไมต้องใช้ตู้แร็ค แล้วจะเลือกใช้ตู้ Rack แบบไหนดี

แน่นอนว่าทุกบริษัทในทุกวันนี้ ต้องใช้อุปกรณ์ IT และระบบเครือข่ายข้อมูลในการดำเนินงาน หลายแห่งจำเป็นต้องใช้ Server จำนวน 10 เครื่องขึ้นไป ประกอบรวมเข้ากับอุปกรณ์ Network อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อสร้างโครงข่ายพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับองค์กร ยิ่งกิจการเติบโตมากเท่าใด ปริมาณข้อมูลที่ต้องจัดเก็บและอุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อประมวลผลก็ยิ่งขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

แล้วเราจะบริหารพื้นที่และจัดระเบียบให้แก่โครงสร้างทาง IT เหล่านี้อย่างไรดีล่ะ? วันนี้เราจะพาผู้อ่านทุกคนไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์ที่เรียบง่าย แต่ซ่อนไว้ด้วยคุณูปการและอานุภาพที่ทรงพลัง นั่นคือสิ่งเราเรียกกันว่า “ตู้แร็ค” นั่นเอง

Rack Server คืออะไร สำคัญอย่างไร?

“Rack Server” หรือ “Server Rack” หรือ “ตู้ Rack” หรือ “ตู้แร็ค” หมายถึง ‘ตู้’ ที่เอาไว้ติดตั้งและจัดเก็บเครื่อง Server (ประเภท rack-mounted) ตลอดจนอุปกรณ์ data processing และอุปกรณ์ Network อื่นๆ เช่น Router, NAS, Switch, UPS, สายไฟ, สายไฟเบอร์ออปติก, สายเคเบิล, กล้อง IP Camera, DVR (Digital Video Recorder) ฯ

ลองนึกภาพของห้องเซิร์ฟเวอร์ในองค์กรขนาดใหญ่ หรือในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีอุปกรณ์ระบบเน็ตเวิร์คมากมาย ใช้เซิร์ฟเวอร์หลายเครื่อง แล้วไหนจะยังอุปกรณ์อื่นๆ อีกจิปาถะ เช่น เครื่อง VPN Firewall, อุปกรณ์ Storage, อุปกรณ์ Gateway, เครื่อง UPS สำรองไฟ ฯลฯ ทุกเครื่องต่างก็ต้องมีสายไฟและสายแลนระโยงระยาง

หากปราศจากตู้ Rack แล้ว อุปกรณ์มากมายเหล่านี้ก็คงต้องใช้พื้นที่มาก ยุบยับยุ่งเหยิงระเกะระกะจมฝุ่น จะทำความสะอาดห้องก็คงยาก จะไล่ดูว่าสายเคเบิลสายไหนต่อเข้าอุปกรณ์ไหนก็คงปวดหัวน่าดู เผลอไผลสะดุดล้มนอกจากหัวจะแตกแล้วยังอาจทำระบบล่มอีกต่างหาก โอ้ย ปัญหาอีกสารพัด (ใครเช่าห้องแถวเล็กๆทำเหมืองขุด Bitcoin คงเข้าใจดี 555)

ดังนั้น ตู้ Rack ก็คือเครื่องมือที่จะช่วยกำจัดความโกลาหลเหล่านี้ ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บ, ประหยัดพื้นที่, ช่วยให้เราสามารถบริหารสายสัญญาณ รวมทั้งบำรุงดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย จะขยายเครือข่ายเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ก็สามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบ

Rack Rail คืออะไร

ตู้ Rack จะแบ่งเป็นชั้นๆ โดยมีรางยึดอุปกรณ์ (เรียกว่า Rack Rail) ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับความสูงของอุปกรณ์ที่จะติดตั้งได้

ขนาดของตู้ Rack จะเรียกตามหน่วย Rack Unit ที่สามารถรองรับได้ เช่น เช่น ตู้ Rack ขนาด 6U, 9U, 12U, 15U, 27U, 36U, 39U, 42U, 45U

โดยที่ตู้ Rack ทุกขนาดมักมีความกว้างภายในพอดีกับความกว้างมาตรฐาน EIA ของเครื่อง Rack-mounted Server นั่นคือ 19 นิ้ว และมาตรฐานความลึกของตู้แร็คจะมีตั้งแต่ 60cm, 80cm, 90cm, 100cm และ 110cm

เครื่องคอมพิวเตอร์ Server ที่เรานิยมใช้งานในทุกวันนี้ มี 3 แบบ บางแบบจะใช้กับ Rack Server ได้

เครื่องคอมพิวเตอร์ Server ที่เรานิยมใช้งานในทุกวันนี้ มี 3 แบบ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่อง Server นั้น ในท้องตลาดจะมีจำหน่ายอยู่ในสามลักษณะ คือ แบบ Tower, แบบ Rack และแบบ Blade ซึ่งแต่ละแบบจะมีรูปทรง (Form) และขนาดที่แตกต่างกัน

Tower Sever

มีลักษณะเป็นเครื่องแนวตั้ง รูปทรงคล้าย Desktop PC ทั่วไป แต่ต่างกันตรงที่ Tower Server จะมีการระบายอากาศที่ถ่ายเทดีกว่า เนื่องจากออกแบบมาให้แต่ละชิ้นส่วนประกอบกันไม่หนาแน่นจนเกินไป เวลาใช้งานจะวางเดี่ยวๆ แบบ Standalone

เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กไปถึงกลาง (SMB) ที่มีงบประมาณจำกัด อย่างไรก็ดีข้อเสียของมันคือ ใช้พื้นที่ในการการติดตั้งเยอะกว่าแบบ Rack และแบบ Blade

Rack-mounted Server

มีทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน รูปร่างแบนๆ บางๆ บางรุ่นมีปีกด้านข้างยื่นออกมาพร้อมรูยึดน็อต เหมาะสำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมากในระบบ Network เช่น ระบบ Data Center เป็นต้น ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับติดตั้งภายในตู้ Rack หรือตู้ Cabinet เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ของห้อง

โดยเซิร์ฟเวอร์แบบ Rack จะถูกจัดวางอย่างเป็นระเบีบบภายในตู้ Rack ร่วมกับอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น Switch, UPS, สายไฟ, สายสัญญาณ ทำให้สะดวกต่อการติดตั้งหรือถอดออกเพื่อซ่อมบำรุง ราคาจะสูงกว่าเซิร์ฟเวอร์แบบ Tower แต่ถูกกว่าแบบ Blade

เครื่อง Server แบบ Rack มักมีหน้ากว้าง 19 นิ้ว ตามมาตรฐาน EIA (Electronic Industrial Alliance) ส่วนความสูงจะมีหน่วยวัด Rack Unit เรียกว่า ยู (1U = ความสูงประมาณ 1.75 นิ้ว หรือ 4.445 cm)

Chassis & Blade Server

ลักษณะเป็นกล่อง Composable (เรียกว่า Chassis) ที่ภายในมีช่องเสียบสำหรับ Sever ย่อยๆ ขนาดกะทัดรัด (เรียกว่า Blade) ติดตั้งอยู่รวมกันหลายตัวภายในแชสซี เบลดทุกตัวมักร่วมกันทำงานเพื่อประมวลผลให้ Application เดียวกัน โดยเแต่ละตัวจะมีระบบระบายอากาศ (Cooling System) ของตนเอง

Blade Server มีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงกว่าสองแบบที่กล่าวก่อนหน้า แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าเช่นกัน ข้อดีของเซิร์ฟเวอร์ชนิดนี้คือ ขนาดที่เล็กทำให้ใช้พื้นที่น้อยในการติดตั้ง และสามารถใช้ไฟฟ้าจาก Chassis ร่วมกันได้ ข้อดีอีกประการคือง่ายต่อการซ่อมแซม เพราะสามารถถอดเปลี่ยน Blade แต่ละอันได้เลย นิยมใช้ในองค์กรระดับ Enterprise

จะเห็นได้ว่า Server ในลักษณะ Rack-mounted และ Chassis & Blade ถูกออกแบบมาสำหรับติดตั้งจัดวางภายในตู้เฉพาะ ที่เรียกว่า “ตู้ Rack” นั่นเอง

ความแตกต่างกับ Rack Server กับ Server Rack

โดยปกติในภาษาอังกฤษ เราจะรู้ได้ว่าคำนั้นหมายถึงอุปกรณ์ชนิดใด ก็โดยดูจากคำสุดท้ายในชื่อเรียกนั้น เช่น

Server Rack จะหมายถึง “ตู้ Rack” ที่ใช้จัดวางเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์

Rack Server จะหมายถึง “เครื่อง Server” ประเภทที่รองรับการติดตั้งในตู้แร็ค (Rack-mounted Sever)

แต่คำว่า “Rack Server” นั้น ออกจะเป็นคำที่พิเศษสักหน่อยตรงที่ว่า อาจจะหมายความได้ถึงสองอย่าง คือ นอกจากจะหมายถึง “เครื่อง Rack-mounted Server” แล้ว ยังอาจหมายความถึง “ตู้ Rack” ได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวง IT แบบไทยๆ แล้ว ดูเหมือนจะนิยมใช้ในความหมายอย่างหลังมากกว่าเสียด้วย

และเนื่องจากบทความนี้ เรากำลังจะลังจะอธิบายเกี่ยวกับ “ตู้ Rack” ดังนั้นหากท่านพบคำว่า Rack Server ในส่วนใดของบทความนี้ ก็โปรดอย่าได้สับสน ขอให้เข้าใจตรงกันว่าเรากำลังพูดถึง “ตู้ Rack” อยู่นะครับ 555

ประโยชน์ ข้อดี และความสำคัญของตู้ Rack Server

แม้ว่าตู้ Rack จะไม่ใช่อุปกรณ์ IT โดยตรง จนหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นหรือมองข้ามความสำคัญของมันไป แต่อันที่จริงแล้ว ตู้ Rack Sever มีบทบาทในการ support การทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีประโยชน์อย่างมากต่อเสถียรภาพของระบบเครือข่าย และยังช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสำคัญในองค์กร ข้อได้เปรียบจากการใช้งานตู้ Rack Server ได้แก่

ช่วยประหยัดพื้นที่

ตู้ Rack มีลักษณะเป็นตู้ที่มีหลายๆ ชั้น ทำให้สามารถจัดวางอุปกรณ์ได้หลายเครื่องในตู้เดียว สามารถวางซ้อนเครื่องได้ 5-20 ตัว (หรือมากกว่า) แล้วแต่ขนาดของตู้ ช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอย และทำให้มีพื้นที่เหลือสำหรับติดตั้ง Server หรืออุปกรณ์ Network ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้คุณประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งลงได้มาก

ช่วยจัดระเบียบ

นอกจากช่วยให้ประหยัดพื้นที่แล้ว ตู้ Rack Server ยังช่วยทำให้ห้อง Server ดูสะอาดสวยงามเรียบร้อยอีกด้วย เครื่อง Server จะถูกจัดเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ รวมทั้งสายสัญญาณต่างๆ ก็จะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบอยู่ภายในตู้ ไม่ต้องวางกระจัดกระจายบนพื้น ไม่รกรุงรัง ไม่ระเกะระกะกินพื้นที่ ง่ายต่อการทำงานซ่อมบำรุงและทำความสะอาด ลดความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะเสียหาย ตลอดจนลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

ช่วยลดเวลาในการติดตั้งอุปกรณ์

ตู้ Rack Server จะช่วยลดขั้นตอนในการติดตั้ง ผู้ดูแลระบบสามารถตั้งค่าเครื่อง Server ได้ง่ายและเร็วมากยิ่งขึ้น

ช่วยให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาหรือ Maintenance ระบบ

ปัญหา Server หรือ Network ล่ม อาจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว การจัดเก็บเครื่อง Server และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ภายในตู้ Rack จะทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึงและทำการตรวจสอบอุปกรณ์ได้ทันที ทำให้สามารถค้นหาสาเหตุที่เป็นต้นตอของปัญหา และจัดการแก้ไขได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ง่ายต่อการบำรุงดูแลรักษาระบบ

Rack Server ช่วยให้อุปกรณ์ระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น

ตู้ Rack Server ถูกออกแบบมาให้สามารถระบายความร้อนภายในตู้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากอุปกรณ์ที่จะจัดเก็บไว้ภายในล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้า และหากมีการประมวลผลข้อมูลมากๆ เป็นระยะเวลานาน และอากาศไม่ถ่ายเท อาจจะเกิดปัญหาความร้อนสูงหรือ Over Heat ได้

ปกป้องความเสี่ยงของอุปกรณ์จากปัจจัยภายนอก

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์มักจะ sensitive ค่อนข้างมากต่อน้ำ, ความชื้น และฝุ่นละออง ตู้ Rack Server จะช่วยปกป้องอุปกรณ์ที่จัดเก็บไว้ภายในจากสิ่งเหล่านี้ ป้องกันเครื่องไม่ให้พังจากการช็อตอันเนื่องจากน้ำและฝุ่น

ตู้แร็คช่วยลดความเสี่ยงจากการชำรุดโดยคนหรือสัตว์

เครื่อง Server และอุปกรณ์ Network มักมาพร้อมสายไฟและสายสัญญาณมากมาย อาจเกิดการชำรุดจากการถูกเหยียบหรือกระแทก, สายอาจถูกหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานกัดจนพัง, อาจมีมดหรือแมลงสาบเข้าไปในเครื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ แต่ตู้ Rack Server จะมีอุปกรณ์ช่วยอุดช่องว่างของรูสายไฟ ช่วยลดปัญหาเหล่านั้น ปลอดภัยทั้งสายและเครื่อง

ลดความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะถูกโจรกรรมหรือทำให้เสียหาย

ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในเครื่อง Server หรืออุปกรณ์ Storage ส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลภายในที่สำคัญหรืออาจเป็นหลักฐานสำคัญก็ได้ (เช่นกรณีที่เป็นเครื่อง DVR Hard Disk ซึ่งบันทึกกล้องวงจรปิด) หากอุปกรณ์เหล่านี้ถูกขโมยไป ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้อาจรั่วไหลไปสู่บุคคลภายนอก หรือหากอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลาย ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่กิจการได้ แต่การจัดเก็บอุปกรณ์ไว้ในตู้ Rack Cabinet ซึ่งสามารถ Lock ได้ จะช่วยสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงที่อุปกรณ์เหล่านี้จะสูญหายหรือถูกทำลาย

ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟและลดค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์

ตู้ Rack ที่มีระบบการระบายความร้อนที่ดี จะช่วยควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ทำให้อุปกรณ์ Hardware สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ลดปริมาณการใช้พลังงาน และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์อีกด้วย จึงทำให้องค์กรประหยัดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้า และช่วยลดค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์

ตู้ Rack Server มีกี่แบบ?

ตู้ Rack Server มีอยู่หลายประเภทหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ติดตั้งและการใช้งาน ดังนี้

แบ่งตามลักษณะการป้องกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ

1. ตู้ Rack Sever แบบเปิด (Open-frame Rack หรือ Open Rack)
ลักษณะเป็นตู้แบบเปิดโล่ง ไม่มีผนัง เก็บเสียง สามารถระบายอากาศได้ดี มีน้ำหนักเบา และราคาถูกมาก สามารถวางได้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอยเป็นอย่างดี เหมาะสำหรับใช้วางอุปกรณ์ Network ซึ่งต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณจำนวนมาก โดยมากมีความสูงตั้งแต่ 27U, 36U และ 42U

ตู้ Rack Sever แบบ Open-frame มีทั้งแบบ 2 เสา หรือ 4 เสา ซึ่งใช้สำหรับยึดติดกับอุปกรณ์ที่จะติดตั้ง โดยปกติแบบ 2 เสาจะรองรับน้ำหนักได้น้อยกว่า และมีความลึกที่น้อยกว่าแบบ 4 เสา ซึ่งอุปกรณ์ IT ที่ออกแบบมาให้ยึดติดกับสี่เสาอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษในการยึดติดเข้ากับ Rack แบบสองเสา

แต่เนื่องจากตู้ Rack ประเภทนี้รับน้ำหนักได้ไม่มาก จึงไม่ควรวางเครื่อง Server ซ้อนกันมากเกินไป อีกทั้งเพราะตู้เป็นลักษณะเปิดโล่ง จึงไม่กันน้ำและฝุ่นละออง และไม่สามารถปกป้องเครื่อง Server รวมทั้งสายสัญญาณ จากแมลง, หนู และสัตว์เลื้อยคลานได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างสะอาดและไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นกับความชื้น

ตู้ Rack Sever แบบเปิด (Open-frame Rack หรือ Open Rack)

2. ตู้ Rack Sever แบบปิด (Rack Enclosure หรือ Cabinet Rack หรือ Close Rack)
ตู้ Rack แบบปิด มีระดับการป้องกันที่สูงกว่าและรองรับน้ำหนักอุปกรณ์ได้มากกว่า โดยมีประตูหน้าหลังและผนังข้าง (ซึ่งสามารถถอดออกได้) และรางยึด (Rack Rail) สามารถปรับระดับสูงต่ำได้ ด้านหลังมักโปร่ง มีรูรังผึ้งสำหรับระบายอากาศ (อุปกรณ์ส่วนมากจะระบายความร้อนออกทางด้านหลัง) บางรุ่นมีช่องโปร่งเต็มบานประตูทั้งหน้าหลังเพื่อให้อากาศไหลเวียนผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากด้านหน้าไปด้านหลังได้ รองรับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าสูงและเกิดความร้อนจากการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ตู้ Rack แบบปิด อาจจะไม่สามารถรองรับจำนวนสายสัญญาณได้เท่าตู้แบบเปิด ดังนั้น หากอุปกรณ์ที่ติดตั้งต้องเชื่อมต่อสายเคเบิลจำนวนมาก อาจต้องเลือกใช้ตู้ที่มีความกว้างหรือความลึกเพิ่มมากขึ้น บางรุ่นอาจมาพร้อมกับรางพิเศษเพิ่มเติมสำหรับยึดรางไฟ (Power Bar) หรืออุปกรณ์ควบคุมและจ่ายกระแสไฟ (PDU : Power Distribution Unit) หรืออุปกรณ์จัดระเบียบสายสัญญาณ (Cable Manager) และบางรุ่นอาจถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการใช้งานแบบ Outdoor เช่น นำตู้ Rack ไปติดตั้งกับเสาเพื่อวางกล้องวงจรปิดและ DVR HDD

ตู้ Rack Sever แบบปิด (Rack Enclosure หรือ Cabinet Rack หรือ Close Rack)

แบ่งตามลักษณะการติดตั้ง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ

1. ประเภทแขวนผนัง (Wall-mounted Rack หรือ Wall Rack)

เป็นตู้ Rack ขนาดเล็ก ไม่สูงมาก และความลึกไม่มากนัก (มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 6U, 9U และ 12U และความลึกเริ่มต้นที่ 40cm, 50cm และ 60cm ตามลำดับ) น้ำหนักเบา สามารถแขวนผนังได้เพื่อประหยัดพื้นที่ หรือจะวางไว้บนชั้นหรือบนตู้ก็ได้ หรือจะติดล้อเลื่อนเพิ่มเพื่อใช้งานบนพื้นก็ได้เช่นกัน เหมาะกับการจัดเก็บอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักไม่มาก เช่น NAS, Switch, Router, กล้องวงจรปิด (IP Camera) ฯลฯ ราคาไม่แพง นิยมนำไปติดตั้งในสถานที่ที่ต้องการแขวนกับผนังและให้มีว่างพื้นที่ด้านล่าง โดยส่วนมากจะเป็นพื้นที่จำกัด ขนาดพื้นที่ไม่กว้างมาก และจำนวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในตู้มีน้อยชิ้น

ตู้ Rack แบบแขวนผนัง สามารถแบ่งย่อยตามระบบระบายความร้อนได้อีก 3 แบบ

1.1) Standard Wall Rack เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ใช้จัดเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ได้ต้องการระบายความร้อนเท่าไหร่นัก

1.2) Front Perforated Wall Rack เหมาะกับการจัดเก็บอุปกรณ์ที่ต้องการระบายความร้อนระดับหนึ่ง

1.3) All Perforate Wall Rack มีความสามารถในการระบายความร้อนสูงสุด เหมาะกับการจัดเก็บอุปกรณ์ที่ต้องการระบายความร้อนเป็นพิเศษ

Rack Server ประเภทแขวนผนัง (Wall-mounted Rack หรือ Wall Rack)

2. ประเภทตั้งพื้น (Tower Rack หรือ Export Rack)
เป็นตู้ทรงสูงขนาดใหญ่ แข็งแรงทนทาน ตัวตู้มีน้ำหนักค่อยข้างเยอะ สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก ใช้วางอุปกรณ์ได้เยอะ สามารถเปิดปิดตู้ได้ทั้ง 4 ด้าน และมักออกแบบประตูหรือผนังตู้ให้มีช่องระบายอากาศ รวมทั้งสามารถติดตั้งพัดลมเพิ่มเติมเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น อาจมีล้อเลื่อนด้านล่างทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกด้วย

มีให้เลือกหลายขนาด (15U, 27U, 36U, 39U, 42U และ 45U ความลึกของตู้ 60cm, 80cm, 90cm, 100cm, 110cm) ส่วนมากนิยมใช้ขนาด 42U และ 45U ราคาสูงกว่าแบบติดผนัง ข้อเสียคืออาจจะไม่เหมาะกับบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด

Tower Rack ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 3 แบบ

Tower Rack ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 3 แบบ

2.1) ตู้ Standard Tower Rack
สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์จำนวนน้อย ที่ไม่ต้องระบายความร้อนมากนัก เช่น เครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์ Network ไม่เกิน 3 เครื่อง พร้อมสายสัญญาณ

2.2) ตู้ Server/Network Tower Rack
สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ที่ต้องการการระบายความร้อนระดับหนึ่ง เช่น เครื่อง Server, เครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ขนาดกลาง หรืออุปกรณ์ Network ไม่เกิน 5 เครื่อง

2.3) ตู้ IDC/Data Center Tower Rack
มีความสามารถในการระบายความร้อนดีมาก ส่วนใหญ่ใช้ในห้อง Server, ห้อง Data Center หรือ IDC ที่มีอุปกรณ์เยอะและมีสายสัญญาณจำนวนมาก ตู้ Rack ประเภทนี้รองรับการจัดวางเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ขนาดใหญ่ได้

นอกเหนือจากตู้ Rack ประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังสามารถแบ่งย่อยเป็นประเภทต่างๆ ได้อีก เช่น แบ่งตามวัสดุที่ใช้, ตามลักษณะการระบายอากาศ หรือแบ่งตามลักษณะการดีไซน์ (ประตูหน้ากระจกนิรภัย, ประตูหลังเจาะช่องระบายอากาศรูปรังผึ้ง ฯ) เป็นต้น

วิธีเลือกตู้ Rack มาใช้งาน

อย่างที่ได้อธิบายไปก่อนหน้าแล้วว่า ตู้ Rack มีหลายประเภท แล้วเราจะมีวิธีเลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ปัจจัยเบื้องต้นที่ควรพิจรณา ได้แก่

ขนาดพื้นที่

พื้นที่หรือห้อง Server Room ที่เราจะจัดวางตู้แร็คมีขนาดเท่าไหร่ หากมีพื้นที่มากก็เลือกตู้ Rack แบบตั้งพื้นได้ แต่หากพื้นที่จำกัด ตู้ Rack แบบแขวนก็อาจจะเหมาะสมกว่า ไม่เปลืองพื้นที่ใช้สอย และยังป้องกันการเดินชนหรือสะดุดล้ม

จำนวนและน้ำหนักของอุปกรณ์

หากอุปกรณ์ที่ต้องการจัดเก็บในตู้ Rack มีจำนวนมาก และ/หรือน้ำหนักเยอะ ก็ควรเลือกใช้ตู้ Rack Cabinet แบบตั้งพื้นซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมากกว่า รองรับน้ำหนักได้เยอะ และมีขนาดใหญ่ รองรับจำนวนอุปกรณ์ได้มากกว่า แต่หากอุปกรณ์ไม่มาก มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ก็สามารถเลือกตู้ Rack แบบแขวนได้

ระบบระบายความร้อนที่ต้องการ

อุปกรณ์ที่เราจะจัดวางภายในตู้ Rack มีอะไรบ้าง จัดวางหนาแน่นแค่ไหน และจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนที่ดีระดับใด เพื่อพิจารณาดีไซน์ของตู้ว่า ต้องใช้ตู้ทึบหรือตู้โปรง ต้องมีพัดลมระบายอากาศติดตั้งในตู้หรือไม่ กี่ตัว (การระบายความร้อนภายในตู้เป็นสิ่งสำคัญ แม้จะตั้งอยู่ในห้องแอร์)

ยกตัวอย่างเช่น หากเลือกใช้ตู้ประเภท Wall Rack สำหรับจัดวางอุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Network Switch) เพียง 1-2 เครื่อง โดยติดตั้งในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ และในตู้ก็มีพัดลมระบายอากาศ แบบนี้อาจจะเลือกเป็นตู้ Wall Rack ธรรมดาทั่วไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อในระดับ Perforated

ทั้งนี้ สำหรับตู้รุ่นแขวนติดผนัง (Wall Rack) จะติดตั้งพัดลมระบายอากาศได้ 1-2 ตัว แต่สำหรับตู้รุ่นตั้งพื้น (Closed Cabinet) จะติดตั้งพัดลมได้ตั้งแต่ 1-6 ตัว โดยมีให้เลือกใช้ทั้งแบบไฟกระแสตรงและแบบไฟกระแสสลับ

ระดับการป้องกันฝุ่นและความชื้น

แน่นอนว่าว่าฝุ่นละอองกับความชื้นส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง ฉะนั้น หากจะใช้ตู้ Rack เพื่อจัดวางเครื่องคอมพิวเตอร์ Server หรืออุปกรณ์อื่นใดที่อ่อนไหวต่อฝุ่นและความชื้น และมีระดับ IP ต่ำ (ระดับการป้องกัน หรือ Ingress Protection Rating) การเลือกใช้ตู้ Cabinet แบบปิดที่ขอบประตูฝังครีบยางกันฝุ่น จะเหมาะสมกว่า

สภาพแวดล้อมในการใช้งาน

การใช้งานในพื้นที่ Indoor หรือ Outdoor ย่อมส่งผลต่อการเลือกใช้ตู้ Rack ว่าควรจะเป็นตู้แบบปิดหรือแบบเปิด และควรมีประสิทธิภาพในการป้องกันระดับไหน เช่น บางครั้งผู้ใช้อาจต้องการติดตั้งอุปกรณ์กล้องวงจรปิดแบบ IP Camera พร้อม Hard Disk (DVR HDD) ไว้ในพื้นที่โล่งด้านนอกอาคาร และต้องติดตั้ง ณ จุดที่มีความสูง ในกรณีนี้ อาจเลือกใช้ตู้ Rack Cabinet แบบปิดชนิดแขวน รุ่นที่ออกแบบมาพิเศษให้รองรับน้ำหนักได้มาก และสามารถติดตั้งเข้ากับเสาสูงได้

ความถี่ในการเข้าถึงอุปกรณ์

หากจำเป็นต้องเข้าถึงอุปกรณ์บ่อยๆ เพื่อ Configure ตัวเครื่อง หรือจัดการสายสัญญาณ โดยวางตู้ Rack ไว้ในพื้นที่ร่ม (Indoor) เช่น ภายในอาคาร หรือในห้องปิดที่มีระบบปรับอากาศ การเลือกใช้ตู้ Rack แบบเปิดที่มีล้อเลื่อน ก็จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและทำงานได้ง่ายกว่า

ขนาด (U) ที่ต้องการ

คำนวณหาขนาดที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่จะใส่เข้าไปในตู้ Rack โดยพิจารณาว่า ต้องการติดตั้งอุปกรณ์ภายในตู้ทั้งหมดกี่ชิ้น แต่ละชิ้นมีความสูงเท่าไร จากนั้นจึงรวมความสูงทั้งหมด แล้วคำนวณขนาด U ของตู้ โดยควรพิจารณาเผื่อการรองรับอุปกรณ์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

ความลึกที่ต้องการ

อุปกรณ์ที่จะติดตั้งภายในตู้ Rack ตัวไหนมีความลึกมากที่สุด ลึกกี่ cm (เครื่องเซิร์ฟเวอร์บางยี่ห้ออาจจะมีความลึกถึง 100cm) และอย่าลืมเผื่อความลึกเพิ่มอีก 15-20cm สำหรับการระบายความร้อน และเพื่อให้สายไฟและสายสัญญาณที่ยื่นออกมาโค้งงอได้สะดวกและปลอดภัยในการใช้งาน

ความต้องการด้าน Power Supply หรือ PDU (Power Distribution Unit)

จำนวนปลั๊กไฟที่ต้องการในตู้ Rack มีทั้งหมดกี่ Outlet เพื่อให้เลือกขนาดของรางไฟ (Power Bar) ได้เหมาะสม เช่น ขนาด 4, 6, 8, 12 หรือ 20 Outlets

ขนาด 6 Outlet เหมาะสำหรับตู้ความสูง 15U โดยสามารถติดตั้งได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ส่วนขนาด 12 Outlet และ 20 Outlet นั้น เหมาะสำหรับตู้ Rack ความสูงตั้งแต่ 27U ขึ้นไป และจะติดตั้งในแนวตั้งเท่านั้น

ความสามารถในการจัดระเบียบสาย

หากอุปกรณ์ที่จะจัดวางมีจำนวนเยอะ และแต่ละเครื่องก็มีสายเชื่อมต่อมาก (ทั้งสาย Power และสาย Cable) การจัดการสายทั้งหมดคงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาความสามารถของตู้ Rack ว่าออกแบบมาให้รองรับการจัดระเบียบสายเหล่านี้หรือไม่ มีช่องพอสำหรับที่จะสอดสายหรือไม่ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเสริม (Cable Manager) เข้ามาช่วย เพื่อให้เก็บระเบียบสายได้เรียบร้อย ในแนวตั้ง (Vertical) หรือแนวนอน (Horizontal) ตามที่ต้องการ

ถาดรองอุปกรณ์ (Shelf)

โดยปกติ อุปกรณ์อย่างเช่น Server, Switch, UPS ฯ หากเป็นรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งในตู้ Rack โดยฉพาะ จะมีขนาดที่พอดีและสามารถยึดกับตู้ได้ แต่ก็อาจมีอุปกรณ์อีกหลายอย่างที่เราต้องการวางไว้ในตู้ แต่ไม่สามารถยึดกับ Rack Rail ของตู้ได้ เช่น Router, Media Converter, Keyboard, Optical Mouse ซึ่งมีขนาดเล็ก อุปกรณ์เหล่านี้อาจจำเป็นต้องใช้ถาดรอง (Shelf) สำหรับจัดวาง ซึ่งถาดรองจะมี 2 แบบ คือ แบบ Fixed และแบบ Slide โดยที่ทั้งสองแบบมักจะมีช่องบนตัวถาดเพื่อช่วยการระบายอากาศของอุปกรณ์ที่นำมาวาง

ลักษณะของถาดรองอุปกรณ์

  • ถาดรองแบบ Fixed Shelf ติดตั้งโดยใช้น็อตยึดตายตัว ไม่สามารถเลื่อนได้ โดยต้องติดตั้งตัว Support ก่อน (มีลักษณะเป็นฉากสำหรับยึดติดกับเสาภายในตู้แร็ค) แล้วจึงนำถาดรอง (Shelf) ยึดเข้ากับตัว Support อีกที
    โดยถาดรองสำหรับตู้แร็คแบบแขวน (Wall Rack) จะมีผลิตออกมาในลักษณะ Fixed Shelf เท่านั้น
  • ถาดรองแบบ Slide Shelf สามารถเลื่อนเข้าออกได้เหมือนลิ้นชัก รับน้ำหนักได้น้อยกว่า ใช้วางอุปกรณ์ที่ต้องการปรับแต่งหรือบำรุงดูแลรักษาบ่อย โดยตัว Support ที่รองรับถาดจะมีลักษณะพิเศษกว่า คือเป็นรางเลื่อน (เรียกอีกอย่างว่า รางลิ้นชัก หรือรางลูกปืน) ที่ยึดด้วยน็อตเข้ากับเสาภายในตู้ Rack ทั้งสี่มุม

อุปกรณ์ที่ไม่ต้องดึงออกมาดูบ่อย เช่น Router, Media Converter สามารถเลือกใช้ Fixed Shelf ได้ แต่สำหรับตู้แร็คบางรุ่นที่มีจอ Monitor ในตัว ควรเลือกใช้ Slide Shelf ในการรองรับ Keyboard และ Optical Mouse เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน

ทั้งนี้ถาดรองอุปกรณ์ (Shelf) มีการผลิตออกมาให้เลือกใช้ในหลากหลายขนาด เช่น ขนาดความลึก 30cm, 40cm, 45cm, 50cm, 60cm, 75cm, 80cm, 90cm และ 100cm แต่ละขนาดจะมีความสามารถในการรองรับน้ำหนักที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้งานถาดรองอุปกรณ์ต้องเลือกให้สั้นกว่าความลึกของตู้ที่เราจะนำไปติดตั้งเสมอ เช่น

  • ตู้ลึก 60 cm ใช้ถาดรองขนาดไม่เกิน 45 cm
  • ตู้ลึก 80cm ใช้ถาดรองขนาดไม่เกิน 60 cm
  • ตู้ลึก 90cm ใช้ถาดรองขนาดไม่เกิน 75 cm
  • ตู้ลึก 100cm ใช้ถาดรองขนาดไม่เกิน 80 cm
  • ตู้ลึก 110cm ใช้ถาดรองขนาดไม่เกิน 95 cm

รายละเอียดอื่นๆ และอุปกรณ์เสริม (Rack Accessories)

มีความจำเป็นหรือความต้องการอื่นๆ อย่างไรบ้าง เช่น

  • สี
  • วัสดุ
  • ระบบ Lock
  • บานพับประตู (Hinges) ที่มีครีบยางกันฝุ่น
  • เสายึดอุปกรณ์ (Mounting Pole) สำหรับตู้ Rack แบบแขวน
  • ขาตั้ง หรือล้อเลื่อน (ล้อเลื่อนบางรุ่นสามารถปรับหมุนได้ 360°)
  • อุปกรณ์จัดระเบียบสายไฟและสายสัญญาณ (Cable Management)
  • อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ / ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat)
  • ฉากรองอุปกรณ์ (Chassis Guide) ความยาวแตกต่างตามระดับความลึกของตู้แร็ค
  • แผ่นปิด (Blank Panel) สำหรับปิดช่องของตู้ Rack ในส่วนที่ยังว่างไม่มีอุปกรณ์ติดตั้ง เพื่อความเรียบร้อย สวยงาม และช่วยป้องกันฝุ่น (Blank Panel มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 1U, 2U, 3U, 4U, 5U, 6U, 7U และ 8U)
  • Joint Kit สำหรับยึดตู้ Rack ในกรณีที่นำสองตู้มาวางชิดกัน โดยเอาฝาข้างด้านที่ติดกันออก เพื่อให้สามารถดึงสายเคเบิลข้ามตู้เข้าหากันได้ เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน
  • ตัว Support สำหรับ Fixed/Slide Shelf
    ลักษณะเป็นฉากที่ยึดติดกับเสาภายในตู้ เพื่อรองรับ Shelf (ถาดรองอุปกรณ์)
  • ชุดน็อตสกรู (Screw Set) สำหรับยึดเสาตู้กับอุปกรณ์ภายในตู้
    ประกอบไปด้วย ตัวน็อต (Screw), แป้นยึดตัวเมีย (Cage Nut หรือ Captive Nut) และแหวนรอง (Washer) ซึ่งปกติจะมีแถมมาให้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เพียงพออาจต้องซื้อเพิ่ม ฯ

เหล่านี้เป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นในการเลือกซื้อตู้ Rack โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานขององค์กรหรือหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตู้ Rack บางรุ่นบางยี่ห้ออาจมีข้อแตกต่างปลีกย่อยอีกมากมาย เช่น ดีไซน์, มาตรฐานรับรองการผลิต, การรับประกัน (Warranty), การบริการหลังการขาย ฯ ในการเลือกซื้อต้องเปรียบเทียบคุณลักษณะเหล่านี้กับงบประมาณที่มี และความจำเป็นในการใช้งาน

หลักการติดตั้งจัดวางอุปกรณ์ในตู้ Rack

การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ในตู้ Rack อย่างถูกต้อง จะช่วยให้สามารถประหยัดพื้นที่จัดเก็บได้มาก อีกทั้งยังทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดีด้วย โดยหลักการจัดเก็บและติดตั้งอุปกรณ์ภายในตู้ Rack มีดังนี้

  • จัดวางอุปกรณ์ภายในตู้ โดยให้ทุกอุปกรณ์เรียงเสมอด้านหน้าตู้
  • จัดวางอุปกรณ์ให้มีลักษณะเป็นแถว เรียงจากล่างขึ้นบนตามความสูงของตู้ เพื่อง่ายต่อการจัดการ
  • อุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดยาว ควรวางไว้ด้านล่างตู้ เพราะโดยมากพัดลมระบายความร้อนมักติดตั้งอยู่ด้านบน หากอุปกรณ์ที่ใหญ่และยาวไปบังพัดลม อาจทำให้การระบายความร้อนภายในตู้ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากก็ควรวางไว้ด้านล่างตู้เช่นเดียวกัน เพราะหากวางอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากไว้ชั้นบน ก็มีโอกาสที่ชั้นจะยุบ และทำให้อุปกรณ์ด้านล่างเสียหายได้
  • อุปกรณ์ที่ต้องการมอนิเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ต้องเข้าถึงบ่อยๆ เช่น Patch Panel ฯ ควรวางไว้ระดับสายตา หากมีปัญหาก็จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สะดวกต่อการตรวจสอบ
  • ตามมาตรฐาน IDC สายสื่อสารควรจัดวางไว้ด้านบนของตู้ Rack ส่วนสายไฟควรจัดวางไว้ด้านล่าง หรืออยู่ใต้พื้นที่ยกระดับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสัญญาณรบกวนสายสื่อสาร ห้ามมัดสายสัญญาณและสายไฟรวมกันเด็ดขาด

หากท่าน ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใช้ตู้ Rack แบบไหนเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในองค์กร ทาง Focomm (Thailand) มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษา และแนะนำตู้ Rack รุ่นต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมที่ทางเรามีหลากหลาย อาทิ

  • ตู้ Server/Network Cabinet
  • ตู้ Telecom Cabinet
  • ตู้ Cabinet สำหรับการใช้งานระดับ Data Center (IDC) แบบ 1 ประตู / 4 ประตู
  • ตู้ Cabinet สำหรับการใช้งานระดับ Micro Data Center
  • ตู้ Cabinet สำหรับการใช้งานระดับ Macro Data Center
  • ตู้ Wall Cabinet แบบ Fixed Model / แบบบานพับ / แบบ Perforated
  • ตู้ Outdoor Cabinet แบบ Single Door / แบบ Double Door / แบบ Heavy Outdoor Cabinet
  • Open Rack แบบ 2 เสา / 4 เสา

อุปกรณ์เสริม (Accessories) เช่น

  • พัดลมระบายความร้อน (Ventilating Fan) 1 ตัว / 4 ตัว สำหรับติดเสริมในตู้ Rack
  • อุปกรณ์ Power Bar
  • อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ
  • ชั้นวางแบบ Fix Shelf / Slide Shelf
  • อุปกรณ์จัดการสายสัญญาณ (Cable Management) แบบ Horizontal / Vertical
  • อุปกรณ์เทอร์โมสตัทแบบยึดรางปีกนก (Din Rail Termostat)
  • สต็อปเปอร์กั้นรางปีกนก (Din Stopper)
  • ชุดสกรูยึด (Screws & Nuts) และแหวนรอง (Washer) ฯลฯ
💥 คิดถึงสายไฟเบอร์และสินค้าโครงข่ายคุณภาพ คิดถึง Focomm 💥
สินค้า Fiber Optic และโครงข่ายคุณภาพระดับสากล
พร้อมบริการให้คำปรึกษา ออกแบบและจัดทำเอกสาร TOR สำหรับงานโครงการ ให้ตรงกับความต้องการของคุณ
☎️ Contact : 02-973-1966
☎️ Contact : 063-239-3569
🌏 Website : https://www.focomm-cabling.com
🟢 Line Official : https://page.line.me/focomm
นำเสนอโดย นายณัฐพล วลัยวิทย์ กรรมการบริษัทฯ